วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผู้นำในดวงใจ


พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 16 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2531และเป็นนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของรัฐสภาที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด ทั้งนี้เพราะกฎหมายไทยในสมัยนั้นไม่ได้กำหนดให้รัฐสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
บุคลิกส่วนตัวพลเอก เปรมเป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม(ออด ติณสูลานนท์) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา สงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) พลเอก เปรม จบการศึกษาหลักสูตรพิเศษโรงเรียนเทคนิคทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2484 และเข้ารบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ ปอยเปต กัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2485-2488 ที่เชียงตุง ภายหลังสงคราม พลเอก เปรมรับราชการอยู่ที่อุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ ฟอร์ตน็อกซ์ มลรัฐเคนตักกี พร้อมกับพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกวิจิตร สุขมาก เมื่อ พ.ศ. 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี พลเอก เปรมได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อ พ.ศ. 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า นี้เอง ที่เป็นที่มาของชื่อที่เรียกแทนพลเอก เปรมอย่างกว้างขวางว่า ป๋า หรือ ป๋าเปรม เนื่องจากท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า "ป๋า" และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า "ลูก" ที่เรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน พลเอก เปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี พ.ศ. 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคทึ่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก

ประวัติส่วนตัว
วันเดือนปีเกิด : 26 สิงหาคม 2463
สถานที่เกิด : บ้านบ่อยาง เลขที่ ๗๘๘ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
ชื่อบิดา-มารดา : เป็นบุตรของรอง อำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ตำแหน่งพะทำมะรง (พัศดี) เมืองสงขลา (พ.ศ. ๒๔๕๗) กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)
พี่น้องนายชุบ ติณสูลานนท์
นายเลข ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)
นางขยัน (ติณสูลานนท์ ) โมนยะกุล
นายสมนึก ติณสูลานนท์
นายสมบุญ ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
เด็กหญิงปรี ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)
นายวีระณรงค์ ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)
ชื่อ “เปรม” นั้น ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฐภรโณ - เปรียญ) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ตั้งให้ ในคำไว้อาลัยแด่ท่านเจ้าคุณรัตน-ธัชมุนี (แบน คณฐาภรโณ) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๓ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้เขียนคำไว้อาลัยตอนหนึ่งว่า “อนึ่งท่านเจ้าคุณและบิดาของผมเป็นศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เดียวกันและ บิดาของกระผมเป็นผู้กราบนมัสการขอให้ท่านเจ้าคุณตั้งชื่อให้กระผม จึงนับได้ว่าท่านเจ้าคุณเป็นผู้มีพระคุณต่อกระผมเป็นส่วนตัวด้วย” ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ พระราชทานให้ เมื่อ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒
พลเอกเปรม ชื่นชอบดูการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกีฬามวยและฟุตบอล มักเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้าพบเพื่อคารวะ และให้กำลังใจ ก่อนจะเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังชื่นชอบการร้องเพลง ระยะหลังได้ฝึกหัดเล่นเปียโนกับ ณัฐ ยนตรรักษ์ และประพันธ์เพลงเป็นงานอดิเรก พลเอกเปรมมีผลงานเพลงบันทึกเสียงจำหน่าย บรรเลงดนตรีโดย กองดุริยางค์ทหารบก
ประวัติการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๖๙ เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา มีเลขประจำตัว ๑๖๗ และมีความประทับใจในขณะได้รับการศึกษา คือ เริ่มเรียนครั้งแรกจนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๘
ในสมัยเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียน และทรงพระดำเนินเยี่ยมในห้องเรียน ท่านก็ทรงอ่านสมุดวิชา “สรีรศาสตร์” ของเด็กชายเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่ง ฯพณฯ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เด็กชายเปรม ติณสูลานนท์ กับเด็กชายอิ่ม นิลรัตน์ ผลัดกันสอบได้ที่ ๑ มาโดยตลอดจนครูแยกห้องเรียนกัน และเด็กชายเปรม เคยได้รับ ”เกียรติบัตรหมั่นเรียน” เพราะเรียนดีไม่เคยสาย ไม่เคยขาดเรียน ได้ทุกปี เป็นนักกีฬาประเภทวิ่งผลัด และนักฟุตบอลของโรงเรียน เป็นนายหมู่ลูกเสือตรี ขณะนั้นเรียนมัธยมปีที่ ๕ ข. ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๗๙ เข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ วิทยาลัยแผนกวิทยาศาสตร์ มีเลขประจำตัว ๗๕๘๗ เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๗ - ๘ ได้เข้าเรียนในเมืองหลวง โดยพี่ชายชื่อชุบ ติณสูลานนท์ ขณะเรียนอาศัยอยู่บ้านของพระยาบรรณสิทธทัณฑการ ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๑ เข้าเรียนโรงเรียน “เท็คนิคทหารบก” หรือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน ขณะเรียนต้องการเป็นทหารปืนใหญ่ แต่พอเกิดสงครามจึงต้องเปลี่ยนมาเลือกเป็นทหารม้า
พ.ศ. ๒๔๘๔ สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพิเศษของโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (จปร) นักเรียนนายร้อยรุ่นนี้รับการศึกษาไม่ครบ ๕ ปี ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ คือต้องใช้เวลาการศึกษาเพียง ๓ ปี เท่านั้น เพราะต้องออกมาเป็นผู้บังคับหมวดตั้งแต่มีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อย
ประวัติการรับราชการ๓ มกราคม ๒๔๘๔ เป็นผู้บังคับหมวดประจำกรมรถรบ ทั้ง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบหลักสูตร เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส นับเป็นการเข้าสู่สงครามครั้งแรก
๒๐ มกราคม ๒๔๘๔ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ว่าที่ร้อยตรี เปรม ติณสูลานนท์ แต่ไม่ได้เข้าพิธีพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากต้องไปประจำการอยู่ที่สนามรบปอยเปต ประเทศเขมร (รับกระบี่ในสนามรบ) มกราคม ๒๔๘๕ - ๒๔๘๘ ได้รับแต่งตั้งให้ไปสงครามอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ ๒ (สงครามมหาเอเซียบูรพา) เป็นผู้หมวดตอนแรก เป็นกองหนุนของกองทัพคือกองทัพพายัพ ซึ่งมีหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นแม่ทัพ กองบัญชาการอยู่ที่ลำปาง ต่อมากองทัพเคลื่อนย้ายไปอยู่เชียงราย และได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นอยู่กับกองพล ๓ ที่เชียงตุง จนได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก และได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี
๒๓ กรกฎาคม ๒๔๘๙ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กองพันที่ ๑ กรมรถรบ
๔ ธันวาคม ๒๔๘๙ เข้าศึกษาเป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนนายทหารม้า
๒๙ สิงหาคม ๒๔๙๐ รักษาราชการรองผู้บังคับกองร้อย
๘ เมษายน ๒๔๙๒ รักษาราชการผู้บังคับกองพันที่ ๑
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๓ กองพันทหารม้าที่ ๔ จังหวัดอุตรดิตถ์
๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๔
๗ กรกฏาคม ๒๔๙๓ เป็นรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์
๓ มีนาคม ๒๔๙๕ เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเนื่องจากรับทุนจากกองทัพบกโดยการสอบแข่งขันได้ ไปศึกษาต่อที่ THE UNITED STATES ARMY ARMOR SCHOOL ฟอร์ทนอกซ์ ซึ่งอยู่ที่รัฐแคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา
๒๔ เมษายน ๒๔๙๖ เป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ (บริเวณเกียกกาย) กรุงเทพมหานคร
๓๐ ธันวาคม ๒๔๙๗ เป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๕ กรมทหารม้าที่ ๒ และรักษาราชการอาจารย์แผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ
๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๘ เป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ กองพลทหารม้า
๑๐ มีนาคม ๒๕๐๑ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า
25 ธันวาคม ๒๕๐๑ เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. ๒๕๐๓ เข้าศึกษาการวิทยาลัยการทัพบก หลักสูตรพิเศษชุดที่ ๒ (ยศพันเอก)
พ.ศ.๒๕๐๙ เข้าศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ ๙ (ยศพันเอก)
๔ กรกฏาคม ๒๕๑๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา
๑ ตุลาคม ๒๕๑๑ เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า
๑๔ เมษายน ๒๕๑๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวร
๑๘ กรกฏาคม ๒๕๑๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์
พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวรสืบต่อไป
๑ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒
๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ เป็นแม่ทัพภาคที่ ๒
๑ ตุลาคม ๒๕๑๘ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์พิเศษ
๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่าย ทหาร และเป็นผู้ข่วยผู้บัญขาการทหารบก มียศเป็นพลเอก
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีข่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
๒๗ กรกฏาคม ๒๕๒๑ เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์
๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ เป็นผู้บัญชาการทหารบก
๔ ธันวาคม ๒๕๒๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๑๒ กรกฏาคม ๒๕๒๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์
๓ มีนาคม ๒๕๒๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี
๒๓ เมษายน ๒๕๒๓ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๖๖/๒๓ เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ อันนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมืองลงอย่างเด็ดขาด
๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖
๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙
๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๑ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นองคมนตรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์อัน เป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับสามัญชน ให้แก่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๑ ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่องพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็น รัฐบุรุษ
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมและผู้นำกลุ่มมวลชน ในการชุมนุมคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเจรจาปรับความเข้าใจกัน และให้ยุติการก่อความวุ่นวายในประเทศ เหตุการณ์นี้ ประชาชนเรียกว่า “เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ” เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ขัดแย้งระหว่างประชาชนในชาติอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการแก้ไขเหตุการณ์ที่ได้รับการยกย่องจากประชาชนเป็นอย่างมาก
การเมือง
ในปี พ.ศ. 2502 ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วง พ.ศ. 2511 - 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร พลเอก เปรมเข้าร่วมการรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ล้มรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร พลเอก เปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในช่วงนั้น พลเอก เปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอกเปรม โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สมัยที่ 1 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 42 : 3 มีนาคม 2523 - 29 เมษายน 2526 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 19 มีนาคม 2526 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มีการเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2526
สมัยที่ 2 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 43 : 30 เมษายน 2526 - 4 สิงหาคม 2529 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
สมัยที่ 3 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 44 : 5 สิงหาคม 2529 - 3 สิงหาคม 2531 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน 2531 เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ เกิดกลุ่ม 10 มกรา ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศภายในพรรค กลุ่ม 10 มกรา นี้ลงมติไม่สนับสนุนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนทำให้พระราชบัญญัติไม่ผ่านการเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์แสดงความรับผิดชอบโดยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกเปรมจึงประกาศยุบสภา มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2531
ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรม ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการ
ภายหลังการเลือกตั้ง ในคืนวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เข้าพบพลเอกเปรมที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
บทบาทในวิกฤตการณ์การเมืองและการรัฐประหาร พ.ศ. 2549
หลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2549 มีนักวิชาการกล่าวหาพลเอกเปรมว่ามีความเกี่ยวข้องกับ วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 ที่นำไปสู่ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ซึ่งในเวลาพลบค่ำวันที่ 19 กันยายน ช่่่วงเดียวกับที่กำลังทหารหน่วยรบพิเศษจาก จ.ลพบุรี ได้เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ พลเอกเปรม ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า พลเอกเปรมเป็นผู้สั่งการให้ทำรัฐประหารโดยนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาร์เทเวศร์ ในเวลาต่อมา ยังเป็นที่กล่าวหาอีกว่า พลเอกเปรม อาจมีบทบาทสำคัญ ในการเชิญ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตลูกน้อง มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกด้วย จนกระทั่ง นักวิจารณ์ บางคน ถึงกับกล่าวว่า สภาฯ ชุดนี้ เต็มไปด้วย "ลูกป๋า" ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า พลเอกเปรมเป็นบุคคลที่มีบทบาททางการเมือง ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 และมีบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว XFN-ASIA ระบุในเว็บไซต์ นิตยสารฟอร์บ ว่า พลเอกเปรมเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย พร้อมทั้งได้สนับสนุนให้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตามรัฐบาลคณะทหาร ได้อ้างว่า พลเอกเปรมไม่เคยมีบทบาททางการเมือง วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 นปก. นับพันคน รวมตัวประท้วงหน้าบ้านของพลเอกเปรม เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เนื่องจากเชื่อว่ามีบทบาททางการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม มีการยิงแก๊สพริกไทยแล้วล้อมรถบรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงของแกนนำ ผู้ชุมนุมขว้างปาขวดพลาสติกและขวดแก้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เกิดการปะทะกันชุลมุนวุ่นวาย เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายคน ด้านแยกสี่เสาเทเวศร์ กลุ่ม นปก.ส่วนหนึ่งทุบทำลายซุ้มตำรวจจราจรและทุบรถส่องไฟและกระจายเสียงของตำรวจที่จอดไว้ รวมทั้งปล่อยลมยางรถยนต์ ในวันต่อมา พลเอกสนธิ พลเอกสุรยุทธ และคณะรัฐมนตรี ได้ไปเยี่ยมพลเอกเปรม เพื่อขอโทษที่ยอมให้มีการประท้วง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น